Easy E-Receipt 2.0 โอกาสสำหรับผู้ประกอบการขายสินค้าเบ็ดเตล็ด
24/12/2024Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568 คู่มือสำหรับผู้ประกอบการ
โครงการ Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568 เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการกระตุ้นยอดขาย และเป็นโอกาสสำหรับลูกค้าหรือบุคคลธรรมดาในการลดหย่อนภาษี หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ผู้ประกอบการ SME หรือบริษัทขนาดเล็กก็สามารถได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หากรีบลงทะเบียนเข้าระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
ระยะเวลาโครงการ เริ่มวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท
โดยมีรายละเอียดการหักลดหย่อนดังนี้
- หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน
- หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
- ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาการชุมชนแล้ว
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 2 ก็ได้
รายละเอียดการลดหย่อนภาษี
- ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ไม่เกิน 50,000 บาท (ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice & e-Receipt เท่านั้น)
รายละเอียดและเงื่อนไข
- ต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่เข้าโครงการ e-Tax Invoice & e-Receipt
- ต้องใช้เอกสารใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีโครงการ Easy E-Receipt 2.0 เท่านั้น
- สินค้าหรือบริการเหล่านั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีด้วย
ยกเว้นสินค้าต่อไปนี้ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถนำมาลดหย่อนกับโครงการนี้ได้
- ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร
- ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
- ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และค่าซื้อเรือ
- ค่าน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
- ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
หลักฐานในการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 ปี 2568
หลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 86/4 (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) ที่ออกผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
e-Tax Invoice และ e-Receipt ที่จะนำมาใช้ลดหย่อนภาษี ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
ยื่นแบบเงินได้ผู้เสียภาษีและเอกสารลดหย่อนภาษี
- ในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ปี 2569
บทความที่น่าสนใจ